คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อาคม รุ่งแจ้ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3373/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องค่าธรรมเนียมค้ำประกัน, ผู้ค้ำประกัน, ดอกเบี้ยผิดนัด, และผลกระทบจาก พรบ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อประเภทวงเงินกู้โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 มอบหลักประกัน คือ บุคคลค้ำประกัน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันจำนวน 20,000,000 บาท เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 บสย. ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 20,000,000 บาท ต่อโจทก์ โดยหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่โจทก์จัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี ต่อมาโจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน รวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ครั้งละ 350,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ชำระแทนไป รวมเป็นต้นเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน 700,000 บาท ดอกเบี้ย 184,339.72 บาท รวมเป็นเงิน 884,339.72 บาท อันเป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน บสย. ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ บสย. ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระ แต่ไม่ชำระและโจทก์ได้ชำระแทนไปก่อน
หนังสือค้ำประกันมีข้อความระบุว่า หนังสือค้ำประกันมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่ผู้ให้กู้ (โจทก์) จัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี จึงแสดงให้เห็นว่าหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว แม้โจทก์มิได้นำสืบโดยตรงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าธรรมเนียม จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายแทนโดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระคืนให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้มีหนังสือค้ำประกันของ บสย. เป็นหลักประกันก็ย่อมประสงค์ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจาก บสย. ในฐานะผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้เข้าจัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้หนังสือค้ำประกันมีผลใช้บังคับต่อเนื่องอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ยังคงมีหลักประกันเพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) วงเงิน 20,000,000 บาท ที่มีอยู่กับโจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบสนับสนุน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปรวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 จำนวน 350,000 บาท และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 จำนวน 350,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินทดรองจ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปในแต่ละปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดนั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือสัญญาให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว แต่เมื่อมิได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 (เดิม) นับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไป ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกัน นั้น ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สัญญารับชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงยอมรับผิดในมูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลอกลวงลงทุนอสังหาริมทรัพย์ – โมฆะ – คืนเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ย
สัญญาซื้อขายมีข้อความระบุชัดเจนว่า โจทก์ตกลงซื้อประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบรายได้ใด ๆ อันเกิดจากการขาย ให้เช่า หรือความตกลงใด ๆ ซึ่งคล้ายกันที่เกี่ยวกับที่ดิน ผ่านการจัดสรรหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยผู้ซื้อจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนของหุ้นดังกล่าวและสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่จะสร้างรายได้ด้วยการขาย ให้เช่าหรือการทำความตกลงใด ๆ สัญญาระบุประโยชน์ตอบแทนอันเกิดจากสัญญาว่า โจทก์ตกลงซื้อ Preferential share units ในบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 5 หน่วย ซึ่งเท่ากับ 5 หน่วย ในทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 1 และเพื่อตอบแทนการลงทุนของโจทก์ ผู้ขายตกลงให้ประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ซึ่งเกิดขึ้นจากการขาย ให้เช่าหรือความตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินซึ่งยังมิได้พัฒนาตามที่ระบุไว้ในเอกสาร A ท้ายข้อตกลง และระบุผลประโยชน์เหนือทรัพย์สินตามสัญญาว่า สิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จะนำไปจดทะเบียนต่อกรมที่ดิน และประโยชน์ของโจทก์ในหน่วยลงทุนของจำเลยที่ 1 จะมีการจดแจ้งลงในเอกสารบริษัทโดยมีหลักฐานเป็นใบหุ้น ข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า โจทก์จะได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการพัฒนาที่ดินผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุน โดยมีจำเลยที่ 1เป็นผู้รับรองการลงทุนและเข้าพัฒนาที่ดินตามวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญา เมื่อโจทก์ได้เข้าซื้อหน่วยลงทุนในการพัฒนาที่ดินแล้ว จำเลยที่ 1 จะจดแจ้งสิทธิในการได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนลงในเอกสารของบริษัทจำเลยที่ 1 และหลักฐานใบหุ้น อันมีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน จึงมิใช่สัญญาสองฝ่ายที่โจทก์ในฐานะผู้ซื้อตกลงเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิในบริษัทจำเลยที่ 1 จากบริษัท ร . ในฐานะผู้ขายเท่านั้น แต่สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายหน่วยลงทุนในการพัฒนาที่ดินซึ่งรวมผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับจากการพัฒนาที่ดินของจำเลยที่ 1 และการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 เข้าด้วยกัน โดยมีบริษัท ร. กระทำการเสนอขายแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรงด้วย นอกจากนี้พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจจดแจ้งโจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นและยื่นส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทอันเป็นการตอบแทนการลงทุนของโจทก์ ย่อมแสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ชำระเงินสำหรับหน่วยลงทุนพัฒนาที่ดินตามสัญญาดังกล่าวสมประโยชน์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงจดแจ้งรับรองสิทธิให้แก่โจทก์เป็นการต่างตอบแทน หากโจทก์มิได้ชำระเงินสำหรับหน่วยลงทุนดังกล่าว ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะจดแจ้งโจทก์ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใด ๆ กับจำเลยที่ 1 เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้
เมื่อหนังสือโฆษณาชี้ชวนให้โจทก์เข้าร่วมลงทุนและสัญญาซื้อขายกล่าวถึงการลงทุนพัฒนาที่ดินในประเทศไทยลักษณะ Land Banking โดยมีจำเลยที่ 1 ดูแลพัฒนาที่ดินและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนา บริษัทผู้ทำการโฆษณาชี้ชวนมีข้อความคำว่า ทรัสต์อยู่ในชื่อนิติบุคคลคือบริษัท ร. อันแสดงถึงรูปแบบการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้ดูแลบริหารจัดการและจัดเก็บผลประโยชน์คืนแก่ผู้ลงทุนหรือทรัสต์ ตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไป ตลอดจนการระบุประโยชน์ตอบแทนการลงทุนของโจทก์ว่า ผู้ขายตกลงให้โจทก์ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ในการขาย ให้เช่าหรือความตกลงใด ๆ ซึ่งคล้ายกันที่เกี่ยวกับที่ดิน กับข้อตกลงที่ระบุในสัญญาซื้อขายว่า ประโยชน์ของโจทก์ในหน่วยลงทุนของจำเลยที่ 1 จะมีการจดแจ้งลงในเอกสารบริษัทโดยมีหลักฐานเป็นใบหุ้น ล้วนแสดงว่าจำเลยที่ 1 ผู้ดูแลจัดการและบริหารที่ดินต้องกระทำการพัฒนาที่ดินตามความสามารถและวิชาชีพของผู้ดูแลจัดการบริหารอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแสวงประโยชน์นำมาจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุน ต้องจดแจ้งให้ปรากฏซึ่งหลักฐานการรับรองสิทธิของโจทก์ในเอกสารของบริษัท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการพัฒนาที่ดินดังกล่าว ทั้งยังคัดชื่อโจทก์ออกจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ในขณะทำสัญญาซื้อขายพิพาท ยังเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจำเลยที่ 1 กับทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายพิพาท และยังเป็นผู้จัดให้จำเลยที่ 3 ลงนามรับรองใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ส่งมอบเป็นหลักฐานแก่โจทก์ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทซึ่งมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 65,000,000 บาท นับเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ทำการเสนอขายหน่วยลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยคิดเป็นเงินลงทุนจำนวนมากแก่ชาวต่างชาติหลายราย แต่กลับไม่ปรากฏการดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างชัดเจนในประเทศไทย และไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการผู้มีอำนาจหรือบุคคลธรรมดารายอื่นเกี่ยวข้องกระทำการใดต่อบุคคลภายนอกเว้นแต่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับนักลงทุนซึ่งเข้าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นเพื่อหลอกลวงเงินลงทุนจำนวนมากจากชาวต่างชาติ โดยไม่มีเจตนาดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จริงตามที่ระบุในเอกสารโฆษณาชี้ชวนและสัญญาซื้อขายและเป็นการกระทำเพื่อแสวงประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 โดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น แม้จะอ้างว่ามิได้ร่วมรู้เห็นถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่เขย แต่จำเลยที่ 3 เข้าลงชื่อในใบหุ้นที่จำเลยที่ 2 นำมาให้แล้วจำเลยที่ 2 นำไปส่งมอบแก่โจทก์อันเป็นส่วนหนึ่งในการหลอกลวงเงินลงทุนจากโจทก์ ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่ระบุในใบหุ้นนั้น จำเลยที่ 3 กลับยินยอมลงชื่อในเอกสารที่ตนไม่เข้าใจ ผิดปกติวิสัยของวิญญูชน จำเลยที่ 3 พักอาศัยอยู่ในที่ดินอันเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปใช้ในการหลอกลวงนักลงทุน ทั้งยังเป็นผู้ดูแลที่ดินและรับเงินค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 อันแสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย การหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องไม่อาจบรรลุผลให้โจทก์หลงเชื่อได้โดยสมบูรณ์หากปราศจากการแสดงหลักฐานใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 ลงชื่อรับรองในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนั้น เชื่อว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 การที่โจทก์หลงเชื่อจากการหลอกลวงและทำสัญญา ซื้อหน่วยลงทุนกับชำระเงินลงทุนให้แก่จำเลยทั้งสามโดยเข้าใจว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยตามหนังสือโฆษณาชี้ชวนดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนาลงทุนตามสัญญาซื้อขายโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 มีผลเท่ากับการซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวมิได้เกิดมีขึ้น จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 172 วรรคสอง โดยต้องคืนเต็มจำนวนตามมาตรา 412

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2017/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายหุ้น-การอนุมัติโอนหุ้นธนาคาร-ความรับผิดตามสัญญา
โจทก์ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงโดยมีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบหุ้น 1,260 หุ้น คืนแก่โจทก์ กับให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จัดทำและยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น การที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 4 และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดย ป.พ.พ. มาตรา 1134 บัญญัติให้บริษัทออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ มาตรา 1138 บัญญัติให้บริษัทจำกัดต้องมีสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีรายการตามที่กำหนด และมาตรา 1139 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในเวลาที่ประชุม และรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นนับแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้วไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยที่ 4 หรือกรรมการของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำการในนามบริษัทจำเลยที่ 4 ที่จะต้องออกใบหุ้น และดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์เพื่อให้การโอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงมีผลสมบูรณ์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 4 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำบันทึกข้อตกลงในคดีอาญา โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยที่ 4 ให้ร่วมดำเนินการตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2008/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนอกฟ้องนอกประเด็น: ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเหตุเพลิงไหม้ต่างจากที่โจทก์ฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณลานจอดรถชั้นใต้ดินอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการหรือจัดให้มีการดับเพลิงอย่างทันท่วงทีจนเป็นเหตุให้ไฟลุกลามไปไหม้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเสียหายทั้งคัน คำบรรยายฟ้องเช่นนี้จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดและให้จำเลยที่ 1 รับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 หาได้บรรยายฟ้องหรือตั้งประเด็นว่า เหตุละเมิดเกิดจากกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันตรายลัดวงจร การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเหตุเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และโจทก์ได้รับประโยชน์จาก ข้อสันนิษฐาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดจึงเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ครอบครองรถยินยอมให้คนเมาขับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถที่โจทก์รับประกันภัยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเกิดเหตุ ทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เมาสุราซึ่งจากผลการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์จำเลยที่ 1 มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 102 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายและกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์กำหนด เมื่อจำเลยที่ 1 มีอาการมึนเมาแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถโดยจำเลยที่ 2 นั่งโดยสารมาในรถที่จำเลยที่ 1 ขับด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าการขับรถในขณะเมาสุราอาจทำให้ผู้ขับขี่หย่อนสมรรถภาพในการควบคุมบังคับรถให้อยู่ในทิศทางและช่องเดินรถของตน ทั้งไม่อาจควบคุมความเร็วของรถให้ช้าลงหรือหยุดรถเมื่อจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นได้ การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถดังกล่าวย่อมเล็งเห็นว่าจะเกิดอุบัติเหตุได้ กรณีถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองรถไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการควบคุมดูแลรถซึ่งอยู่ในความครอบครอง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคคลภายนอกที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุละเมิดครั้งนี้ และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกด้วย นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยในขณะเมาสุราเป็นการผิดเงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ข้อ 7.6 เมื่อโจทก์ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความรับผิดที่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายไปนั้นคืนให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในข้อ 8 ข้อสัญญาพิเศษ อันเป็นเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในฐานะเจ้าของรถและนายจ้าง/ตัวการ, การคิดดอกเบี้ยผิดนัด, และขอบเขตความรับผิดร่วม
คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.951/2562 ของศาลจังหวัดทุ่งสง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถโดยประมาทหรือหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจและผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ซึ่ง ต. ผู้เอาประกันภัยยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ต. ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อฟ้องกันอีก ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ในคดีอาญาดังกล่าว ต. ผู้เอาประกันภัยได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยอ้างส่งหลักฐานการซ่อมเป็นรายการราคาของอะไหล่แต่ละชิ้นและภาพถ่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลจังหวัดทุ่งสงพิจารณาหลักฐานดังกล่าวแล้ว เห็นว่า รถยนต์ย่อมเสื่อมสภาพลงเพราะการใช้งาน การคิดคำนวนราคาซ่อมไม่อาจคิดคำนวณราคาค่าอะไหล่ทุกชิ้นเป็นเกณฑ์ในการเรียกราคา ทั้งพิจารณาจากสภาพรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย หากทำการซ่อมก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่ทั้งหมด เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ 400,000 บาท อันเป็นการวินิจฉัยราคาค่าซ่อมรถยนต์จากหลักฐานรายการซ่อมและสภาพความเสียหายที่ปรากฏจากภาพถ่ายรถยนต์คันเกิดเหตุ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จากการตรวจสอบสภาพความเสียหายและประเมินราคาค่าซ่อมรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย ปรากฏว่าได้รับความเสียหาย 254,463 บาท ตามเอกสารสรุปค่าอะไหล่และใบเสนอราคาความเสียหายของอู่ ซึ่งสูงเกินกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้ 200,000 บาท โจทก์จึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท ตามความผูกพันในสัญญาประกันภัยข้อ 2.1 การชดใช้ความเสียหายต่อรถยนต์ในกรณีรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง ค่าเสียหายที่ ต. ได้รับจากจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง 400,000 บาท และที่ ต. ได้รับจากโจทก์ 200,000 บาท จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์เช่นเดียวกัน การที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ต. ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แก่ ต. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 สิทธิของโจทก์ในการเข้ารับช่วงสิทธิของ ต. เรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัย ย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และมาตรา 880 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่ ต. และเข้ารับช่วงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จาก ต. ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญา ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ให้แก่ ต. เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดทุ่งสงที่กำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามคำร้องขอให้บังคับผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่ง ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งได้ทำให้แก่ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิในมูลหนี้ละเมิดโดยสุจริต การชำระหนี้ดังกล่าวย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 316 แม้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจาก ต. ก่อนจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าว แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของ ต. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง และการชำระหนี้ในมูลละเมิดสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ต. ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว มูลหนี้ส่วนนี้จึงระงับไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ 200,000 บาท ได้ แต่สำหรับค่าลากรถที่โจทก์ฟ้องเรียกมา 6,400 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ชดใช้ให้แก่ ต. ไปตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง เมื่อโจทก์ได้ชดให้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ ต. ไป และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ ต. แล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ต. เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไล่เบี้ยความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: การสละสิทธิไล่เบี้ยตามสัญญาประกันภัยและข้อยกเว้น
กรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 6 ระบุเหตุที่โจทก์สละสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยว่า ในกรณีที่มีความเสียหายต่อรถยนต์ เมื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย โจทก์สละสิทธิในการไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์นั้น แต่กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวระบุข้อยกเว้นที่โจทก์ยังสงวนสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยไว้ด้วยว่า กรณีการใช้โดยบุคคลของสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถ การทำความสะอาดรถ การบำรุงรักษารถ หรือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเมื่อรถยนต์ได้ส่งมอบให้เพื่อรับบริการนั้น โจทก์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากบุคคลเหล่านั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เอาประกันภัยประสงค์จะนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้าซ่อมที่บริษัท บ. แต่ไม่สามารถนำรถไปส่งซ่อมเองได้ จึงมอบหมายให้บริษัท บ. จัดหาบุคคลไปรับรถยนต์มาเพื่อซ่อม เมื่อบริษัท บ. เป็นสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถ การที่บริษัท บ. ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ไปรับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย จึงเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้ารับบริการซ่อมตามการมอบหมายและความยินยอมของผู้เอาประกันภัย ต่อมาจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไปรับรถและขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยไปส่งที่บริษัท บ. จึงเป็นการกระทำในวัตถุประสงค์และการมอบหมายของบริษัท บ. เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งรับดำเนินการในกรณีนี้เป็นตัวแทนของบริษัท บ. ในการรับมอบรถยนต์จากผู้เอาประกันภัยเพื่อนำไปรับบริการซ่อมแซมจากบริษัท บ. ผู้เป็นตัวการ การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจึงเป็นการกระทำโดยบุคคลของสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถเมื่อรถยนต์ได้ส่งมอบให้เพื่อรับบริการนั้น อันเป็นข้อยกเว้นซึ่งโจทก์ยังสงวนสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากผู้ใช้รถยนต์ที่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยนั้น โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง มาตรา 420 และมาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4370/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทเรื่องค่าบำเหน็จตัวแทนประกันชีวิต, อายุความ, และดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายใหม่
กรณีที่จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ต้องเป็นการที่บุคคลใดได้ทรัพย์สิ่งใดมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่รับไปแก่โจทก์เนื่องจากมีการยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์แก่ผู้เอาประกัน ซึ่งเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากโจทก์ไปเป็นการรับไว้ในฐานะตัวแทนประกันชีวิตของโจทก์ตามสัญญาข้อตกลงแต่งตั้งตัวแทน จึงเป็นการรับเงินไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มิใช่เรื่องลาภมิควรได้ เมื่อปรากฏต่อมาว่าโจทก์ยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์แก่ผู้เอาประกันรายที่จำเลยที่ 1 และทีมงานชักชวนให้มาทำประกันชีวิตกับโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องคืนเบี้ยประกันให้ผู้เอาประกัน จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่ได้รับสำหรับผู้เอาประกันรายดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ตามเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาข้อตกลงแต่งตั้งตัวแทน เมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนฐานผิดสัญญา มิใช่กรณีเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ จะนำเอาอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 มาใช้บังคับกับกรณีนี้ไม่ได้ และเมื่อการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นตัวแทนประกันชีวิตกรณีโจทก์ยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 อายุความในคดีนี้จึงมีระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5042/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีอาญาหลังศาลประทับฟ้องแล้ว เปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา สั่งงดสืบพยานและยกฟ้องได้ หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องและคำพิพากษาคดีแพ่ง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับฟ้องจำเลยที่ 2 โดยองค์คณะผู้พิพากษาคณะหนึ่งแล้ว ต่อมาในชั้นพิจารณามีการจ่ายสำนวนให้องค์คณะผู้พิพากษาใหม่พิจารณาพิพากษาคดี องค์คณะใหม่มีอำนาจพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์เปรียบเทียบกับคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งที่โจทก์อ้างเป็นมูลคดีฟ้องกล่าวหาจำเลยในคดีนี้เพื่อนำไปปรับข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 และมาตรา 180 หรือไม่ หากข้อเท็จจริงสามารถรับฟังได้ยุติตามคำฟ้องโจทก์แล้ว กรณีก็ไม่มีเหตุผลใดที่องค์คณะใหม่ในศาลชั้นต้นจำต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก และถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์กับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งดังกล่าว เมื่อปรับข้อกฎหมายแล้วจำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดหรือการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ศาลก็มีอำนาจงดสอบคำให้การจำเลยที่ 2 และงดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ ดังนั้น องค์คณะผู้พิพากษาใหม่มีอำนาจสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 2 และมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ ไม่ใช่การกลับคำสั่งขององค์คณะผู้พิพากษาคณะเดิมที่ประทับฟ้องจำเลยที่ 2 ไว้อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้อำนวยการโรงเรียนในการพิจารณาการลาและการลงโทษครู
จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจจะอนุญาตให้โจทก์ลาหรือไม่ก็ได้ แต่การใช้ดุลยพินิจต้องอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเคยมีปัญหาไม่พอใจกับโจทก์มาก่อน และเมื่อโจทก์ยื่นใบลากิจล่วงหน้าตามระเบียบ และภายหลังโจทก์ก็ได้ยื่นใบลาป่วยแทนใบลากิจที่จำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตไปก่อนแล้ว จำเลยจึงเกษียณคำสั่งคาดโทษโจทก์ว่า เป็นการลาเท็จ เพื่อหาเหตุตั้งคณะกรรมการสอบสวนการลาของโจทก์อันเป็นการหาเหตุลงโทษทางวินัยโจทก์ แม้ภายหลัง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เขต 8 จะพิจารณายกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่โจทก์ก็ยังมิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนปกติ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก่อความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
of 2