คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชดใช้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 138 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายกรมธรรม์ประกันภัย: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปติดต่อกับครอบครัวของโจทก์ทั้งสอง จนครอบครัวโจทก์ทั้งสองทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รวม 9 ฉบับ โดยจำเลยที่ 2 กับสมาชิกในทีมดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวทำใบคำขอเอาประกันชีวิตยื่นต่อจำเลยที่ 1 รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ออกใบรับเงินชั่วคราวแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้นำกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 9 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ออกให้ มามอบให้แก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัว เมื่อจำเลยที่ 2 แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่า สามารถเปลี่ยนแบบกรมธรรม์ใหม่ ทุนประกันเท่าเดิม แต่จะได้รับความคุ้มครองที่ดีกว่าเดิม ย่อมเป็นเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ทั้งสองเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และถือได้ว่าเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจตัวแทนประกันชีวิตที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว พนักงานอัยการจะฟ้องเป็นคดีอาญา และศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว แต่คดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่ความด้วย ทั้งการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวในฐานะที่เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทจึงต่างจากคดีอาญา ไม่จำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ทั้งสองให้ลงลายมือชื่อในหนังสือบอกกล่าวเวนคืนกรมธรรม์เพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์และขอรับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ และนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 อนุมัติ ก็รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์และออกใบรับเงินชั่วคราวในนามของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อเป็นหลักฐานการรับชำระค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการเปลี่ยนแบบหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ตามที่เสนอขายแก่โจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปและไม่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวเอากับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในฐานะตัวการไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องผูกพันและรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 และ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 70/1 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
แม้ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 71 วรรคสอง ตัวแทนประกันชีวิตไม่อาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามบริษัท และมีผลให้การชักชวนของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่คำเสนอในการทำสัญญาประกันชีวิต แต่การชักชวนให้โจทก์ทั้งสองเปลี่ยนหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่โดยเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยเดิม เพื่อนำเงินมาชำระเป็นเบี้ยประกันภัย เป็นการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ถือเป็นคำเสนออย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองตกลงจึงเป็นคำสนองและเกิดสัญญาต่างตอบแทนขึ้น โดยโจทก์ทั้งสองเมื่อได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์แล้ว ก็ต้องชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องออกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเดิมให้แก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยที่ 2 ให้สัญญาไว้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องในกรณีดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยโจทก์ทั้งสองอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์และส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จนครบถ้วน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 4 ฉบับ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ
เมื่อสัญญาต่างตอบแทนมีสภาพบังคับได้และมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการ โจทก์ทั้งสองย่อมมีคำขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามคำขอท้ายฟ้องได้ อย่างไรก็ดีเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ กรมธรรม์ 2 ฉบับแรก จะครบกำหนดความคุ้มครองแล้ว ส่วนกรมธรรม์อีก 2 ฉบับ แม้จะยังไม่ครบกำหนด แต่เมื่อนับถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา กรรมธรรม์อีก 2 ฉบับ ก็จะครบกำหนดความคุ้มครองแล้วเช่นกัน น่าเชื่อว่าการที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ก็เพื่อที่จะเรียกร้องเอาผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากโจทก์ทั้งสองถือกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ไว้จนครบกำหนดแล้วเป็นสำคัญ จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากกรมธรรม์ทั้ง 4 ฉบับ ยังคงมีผลใช้บังคับ อันเป็นการกำหนดค่าเสียหายเต็มตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสองแล้ว กรณีย่อมไม่จำเป็นต้องบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกต่อไป
ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองในคดีนี้เท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากไม่มีการเวนคืนกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนกับคำพิพากษาในคดีอาญาที่ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้น หากโจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวเพียงใด ก็ให้นำมาหักกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาและการชดใช้ค่าเสียหายจากสภาพรถยนต์ชำรุด
ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้วย่อมมีผลผูกพันจำเลยทั้งสี่ซึ่งมีสถานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำบังคับ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีต่อไปได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และมาตรา 274 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 และหากการละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลยทั้งสี่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ยังชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสี่มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา จนโจทก์ติดตามรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้ในสภาพชำรุดบกพร่อง ทำให้ขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าราคารถยนต์ที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาคดีก่อน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นราคารถยนต์ที่ขาดไป จำเลยทั้งสี่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนอันสืบเนื่องมาจากมูลหนี้คดีก่อนที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ มิใช่ค่าเสียหายที่มีหลักแหล่งแห่งข้อหาตามสัญญาเช่าซื้อหรือข้ออ้างที่อาศัยความผูกพันกันตามสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อและร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมซึ่งเลิกกันไปแล้ว และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีก่อนได้วินิจฉัยจนเสร็จสิ้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาความสมบูรณ์หรือความเป็นโมฆะเสียเปล่าของสัญญาดังกล่าวอีก เพราะมิใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกปัญหาว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัย และเห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ โดยเห็นว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนมิใช่บทบังคับว่า ศาลต้องหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียทุกกรณี ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยหรือไม่ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาข้อสำคัญที่ว่า การหยิบยกปัญหาเรื่องความโมฆะของสัญญาฉบับเดียวกันกับในคดีก่อนขึ้นวินิจฉัย จนเป็นผลให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสัญญาเดียวกันแตกต่างกัน อันก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อการบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีก่อนที่กำหนดให้จำเลยทั้งสี่ต้องปฏิบัติตามในลำดับแรกด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีเป็นอันไร้ผลไปโดยสิ้นเชิง เป็นผลให้ตกเป็นภาระแก่จำเลยที่ 1 เพียงลำพัง ทั้งที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่างเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาที่ละเลยต่อการชำระหนี้ไม่แตกต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกปัญหาว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีก่อน
เมื่อรถยนต์ที่จำเลยทั้งสี่ต้องส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ มีมูลค่า 400,000 บาท ตามราคาใช้แทนรถยนต์ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดไว้ในคดีก่อน โจทก์ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดรถยนต์แล้ว 308,411.21 บาท โจทก์จึงยังคงเสียหายเป็นเงินเพียง 91,588.79 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดราคาแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท เกินกว่าความเสียหายของโจทก์จึงเป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าไฟฟ้าปรับปรุง เหตุมิได้เกิดจากการไม่ชำระหนี้ แต่เกิดจากการดัดแปลงมิเตอร์ของผู้ใช้ไฟฟ้า
โจทก์ทำสัญญาตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจดหน่วยพร้อมแจ้งค่าไฟฟ้าให้แก่โจทก์ แต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่ไปจดหน่วยมิเตอร์ไฟฟ้า โจทก์ตรวจสอบพบว่ามิเตอร์ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าถูกดัดแปลงทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าหมุนช้าลงและแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดการกระทำละเมิดของผู้ใช้ไฟฟ้า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าไฟฟ้าปรับปรุงอันเกิดจากการที่มิเตอร์ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าหมุนช้าลงและแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อน จึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาตั้งตัวแทนจดหน่วยพร้อมแจ้งค่าไฟฟ้า ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติกรรมเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 ย่อมไม่มีค่าเสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ถือเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ขออนุญาตฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2664/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชดใช้ค่าเสียหาย: ผลกระทบจาก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. 2564 และการปรับอัตราดอกเบี้ย
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 ซึ่งตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคแรก เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 ใหม่ ที่อาจปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและบวกด้วยอัตราเพิ่มดังกล่าว แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันพยายามฆ่า, เป็นซ่องโจร, ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน, และการหักเงินที่ได้รับก่อนออกจากค่าสินไหมทดแทน
โจทก์บรรยายคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกฐานเป็นซ่องโจรอีกกรรมหนึ่ง โดยการกระทำความผิดฐานนี้ย่อมเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันวางแผนเพื่อกระทำการอันเป็นความผิด แม้ยังมิได้มีการกระทำการตามที่ได้สมคบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจรเป็นการกระทำกรรมเดียวกับฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนนั้น ไม่ถูกต้อง ทั้งปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหก ซึ่งกระทำผิดฐานดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงมิอาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งหกได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งหก ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆียะกรรม สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทสำคัญผิดในคุณสมบัติทรัพย์สิน ค่าเสื่อมราคาชดใช้
ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คู่กรณีได้กลับคืนฐานะเดิมทุกกรณี แม้การคืนทรัพย์จะพ้นวิสัยก็ต้องกำหนดค่าเสียหายแทน โดยการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้นอาจเกิดจากการคืนทรัพย์ที่เคยรับไว้ให้แก่คู่กรณีไม่ได้เพราะทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลายหมดสิ้นจึงไม่อาจคืนกันได้ หรือคืนได้แต่ทรัพย์นั้นมีความชำรุดบกพร่องหรือบุบสลายไปบางส่วน ส่วนที่ชำรุดบกพร่องหรือบุบสลายไปนั้น ถือเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ฝ่ายมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์จึงต้องใช้ค่าเสียหายแทน ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงความสุจริตของฝ่ายที่รับทรัพย์สินนั้นเลยว่าจะได้รับทรัพย์สินนั้นไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถพิพาทให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2553 ซึ่งโจทก์ครอบครองใช้ประโยชน์ตลอดมา ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษอายัดรถพิพาทเพื่อตรวจสอบ แต่หลังจากนั้นเพียง 1 เดือนเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษคืนรถให้โจทก์กลับไปครอบครองดูแลโดยไม่ห้ามโจทก์นำรถออกใช้ประโยชน์ จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถพิพาทตลอดมา เมื่อนับตั้งแต่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถพิพาทให้โจทก์จนปัจจุบัน รวมเวลากว่า 13 ปี รถพิพาทย่อมชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมสภาพหรือเสื่อมราคา ทำให้ราคารถพิพาทลดลง กรณีจึงเป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์จะคืนรถแก่จำเลยที่ 1 ในสภาพเดิมได้ ค่าเสื่อมราคาจากการใช้ประโยชน์รถพิพาทของโจทก์เป็นค่าเสียหายชดใช้แทนที่ศาลมีอำนาจกำหนดให้ได้ แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การหรือนำสืบถึง สมควรกำหนดค่าเสื่อมราคารถพิพาทเป็นเงิน 16,000,000 บาท เมื่อนำไปหักออกจากราคารถพิพาท คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนแก่โจทก์ 23,000,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1781/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความเรื่องค่าเช่า ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสเรื่องก่อน กำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และจำเลยตกลงแบ่งเงินค่าเช่าที่เกิดจากการให้เช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในอัตรา 40 ส่วน ใน 100 ส่วน ของค่าเช่าที่เกิดจากการให้เช่าจากบริษัท ป. หรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมตลอดไปจนกว่าโจทก์จะถึงแก่ความตาย ก่อให้เกิดหนี้ผูกพันระหว่างกันที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่กำหนด แม้ไม่มีข้อกำหนดใดห้ามมิให้จำเลยขายที่ดินพิพาทในอันที่โจทก์จะนำมาใช้อ้างว่าจำเลยกระทำผิดข้อสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และจำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้อย่างอิสระก็ตาม แต่เมื่อในเวลาที่จำเลยขายที่ดินพิพาทนั้นโจทก์ยังไม่ถึงแก่ความตายอันเป็นเงื่อนไขซึ่งเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งของเงินค่าเช่าจนกว่าจะถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นการทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารประมาทเลินเล่อปล่อยให้มีการเบิกจ่ายเช็คปลอม ทำให้ผู้ฝากได้รับความเสียหาย ต้องรับผิดชดใช้
จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การเบิกถอนโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องตรวจสอบความถูกต้อง และใช้ความระมัดระวังในการเบิกถอนโอนเงินจากบัญชีเงินฝากยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกระทบต่อความเชื่อถือไว้วางใจในการประกอบกิจการธนาคาร เมื่อสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นเอกสารปลอม มีการจัดเรียงผิดย่อหน้าผิดแผกแตกต่างจากรูปแบบคำสั่งศาล และมีข้อความที่พิมพ์ตกหล่นหลายแห่งเป็นพิรุธ ทั้งจำนวนเงินในบัญชีเงินฝากที่ขอเบิกถอนมากกว่าล้านบาท เช่นนี้ โดยหน้าที่ตามสัญญารับฝากเงินและระเบียบปฏิบัติงาน จำเลยที่ 2 จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยการตรวจสอบสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกให้แน่ชัดเสียก่อนว่าเป็นสำเนาคำสั่งที่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้เบิกถอนเงิน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 2 สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวก่อนได้ไม่ยาก แต่จำเลยที่ 2 ละเว้นมิได้กระทำ โดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายไปทันที ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการของตนดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม จึงเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์
of 14